ฝีคืออะไร มีกี่ชนิด อันตรายหรือไม่ มีวิธีรักษาอย่างไร

ฝีคืออะไร มีกี่ชนิด อันตรายหรือไม่ มีวิธีรักษาอย่างไร

ฝีสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศทุกวัย รูปแบบของฝีที่เกิดขึ้นในแต่ละตำแหน่งจะมีลักษณะและความรุนแรงที่ไม่เท่ากัน ซึ่งฝีที่เกิดขึ้นหากไม่ได้รับการดูแลหรือรักษาอย่างทันท่วงทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับฝีและวิธีการดูแลที่ถูกต้องกัน

ฝีคือ อะไร

ฝี (Abscess) คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ทั่วไปทั้งภายในและภายนอกร่างกาย โดยฝีมีลักษณะเป็นตุ่มแดงมีหนองอยู่ด้านใน โดยหนองที่อยู่ภายในตุ่มส่วนมากจะประกอบเป็นเม็ดเลือดขาวและส่วนของเนื้อเยื่อที่ตายจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักที่พบได้บ่อยของการเกิดฝี คือ เชื้อแบคทีเรียสแตฟิโลค็อคคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) และสเตรปโตค็อคคัส พัยโอจีเนส (Streptococcus Pyogenes) เชื้อแบคทีเรียนี้เมื่อเข้าไปสู่ชั้นใต้ผิวหนังจะเกิดปฏิกิริยาที่เป็นพิษต่อเนื้อเยื่อ ส่งผลให้เนื้อเยื้อตายและมีหนองเกิดขึ้น ดังนั้นหนองที่เกิดขึ้นจึงมีกลิ่นเหม็น ตุ่มฝีจะบวมแดง มีอาการปวดและมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

ชนิดของฝี

การแบ่งแยกชนิดของฝีสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามชนิดของอวัยวะที่ก่อให้เกิดฝี คือ

1.ฝีที่อวัยวะภายนอก

คือ ฝีที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังหรืออวัยวะภายนอกของร่างกาย โดยเฉพาะที่บริเวณรากผมและรูขุมขนจะเป็นจุดที่มีความเสี่ยงในเกิดฝีมากที่สุด เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าไปอุดตันจนเกิดอาการอักเสบได้ง่าย ซึ่งฝีที่อวัยวะภายนอกจะมีอันตรายน้อยหากพบและทำการักษาได้อย่างรวดเร็ว  แต่หากปล่อยทิ้งไว้หรือทำการรักษาอย่างผิดวิธีโอกาสที่ฝีจะมีความรุนแรงจนเป็นอันตรายก็สามารถเกิดขึ้นได้

2.ฝีที่อวัยวะภายใน

คือ ฝีที่เกิดขึ้นบริเวณอวัยวะภายในของร่างกายหรืออวัยวะเชื่อมต่อระหว่างอวัยวะภายในและภายนอก ฝีชนิดนี้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าฝีที่อวัยวะภายนอก ทว่าเป็นฝีที่อันตรายสูงกว่า เนื่องจากการตรวจพบยาก ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า นอกจากนี้ฝีที่อวัยวะภายในหากแตกออกจะทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในร่างกายซึ่งอาจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุของการเกิดฝี

สาเหตุที่ทำให้เกิดฝีมีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ แต่ที่พบว่าทำให้เกิดฝีบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ โดยสามารถแบ่งปัจจัยการเกิดฝีออกเป็น 2 แบบตามชนิดของฝี ดังนี้

1.สาเหตุการเกิดฝีภายนอก

การเกิดฝีภายนอกเกิดจากการอุดตันและการอักเสบของรูขุมขนหรือต่อมเหงื่อ โดยเมื่อเกิดการอุดตันแล้วมีการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดภาวะอักเสบ เป็นหนองจนกลายเป็นฝีในที่สุด

2.สาเหตุการเกิดฝีภายใน

ถึงแม้ว่าฝีภายในจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ว่าก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้  โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดมีดังนี้

2.1 เกิดการติดเชื้อ

การติดเชื้อที่เนื้อเยื่อของอวัยวะภายใน เช่น ไส้ติ่งแตก ไส้ติ่งอักเสบ ลำไส้อักเสบ เป็นต้น ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะทำให้เนื้อเยื่อใกล้เคียงเกิดการอักเสบเป็นหนองและกลายเป็นฝีได้

2.2 แรงกระแทก

เมื่อร่างกายได้รับการบาดเจ็บจากแรงกระแทก ส่งผลให้อวัยวะภายในเกิดความเสียหาย ซ้ำเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝีภายในได้

2.3 การผ่าตัด

บางครั้งหากการผ่าตัดก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ก่อให้เกิดฝีภายในได้ โดยเฉพาะการผ่าตัดในสภาวะที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายภายในร่างกาย ส่งผลให้เนื้อเยื่อเกิดการติดเชื้อและเป็นฝีได้

2.4 สารเคมีหรือยาบางชนิด

ยาบางชนิดเมื่อร่างกายได้รับเข้าในปริมาณที่สูงหรือได้รับต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของสเตียรอยด์ เป็นต้น หรือสารเคมีสำหรับบำบัดโรคบางชนิดจะทำให้เนื้อเยื่อเกิดการอักเสบและกลายเป็นฝี

แนวทางการรักษาฝีในแต่ละระยะ

การรักษาฝีจะรักษาตามอาการของฝีที่เกิดขึ้น ซึ่งการรักษาฝีจะเน้นไปที่ฝีอวัยวะภายนอกที่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

1.ระยะเป็นตุ่มแดง

คือ การรักษาฝีภายนอกที่มีขนาดเล็ก ๆ ไม่เจ็บมาก ไม่มีหนองภายใน ฝีแบบนี้หากสังเกตภายนอกจะมีลักษณะคล้ายสิว แต่ว่ามีอาการปวดและโตขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นหากสังเกตเห็นตั้งแต่ฝีมีขนาดเล็กก็สามารถทำการรักษาได้เอง ด้วยการประคบร้อนเพื่อช่วยลดขนาดของหัวฝีให้เล็กลงและหายไป

2.ระยะเป็นหนอง

คือ ฝีที่มีหนองเกิดขึ้นภายในขึ้นแล้ว ซึ่งหนองระยะนี้จะมีอาการปวด บวมแดง ซึ่งผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วย หากเป็นฝีถึงระยะนี้ไม่ควรทำการรักษาหรือเจาะหนองออกด้วยตนเอง เพราะมีโอกาสจะทำให้หนองทำให้เกิดการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อใกล้เคียงได้ ดังนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง

นี่เป็นการรักษาฝีภายนอกร่างกาย ส่วนการรักษาฝีภายในร่างกายจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หนองที่อยู่ภายในฝีเกิดการแตกออก

ข้อควรระวังในการดูแลรักษาฝี

หากฝีมีหนองเกิดขึ้นภายใต้ผิวหนัง ห้ามบีบหรือเจาะหนองออกมาเอง เพราะการบีบหรือเจาะหนองออกมาเอง มีความเสี่ยงทำให้เนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงเกิดการซ้ำและอักเสบได้ นอกจากจะทำให้ฝีไม่หายแล้ว ยังจะทำให้ฝีขยายขนาดใหญ่ขึ้นได้

จะเห็นว่าฝีมีทั้งแบบที่อันตรายและไม่อันตราย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตำแหน่งและขนาดของฝี ดังนั้นหากมีตุ่ม บวมที่บริเวณผิวหนังควรสังเกตให้ดีว่าเป็นสิวที่ผิวหนังหรือฝี หากเป็นฝีจะได้ทำการรักษาก่อนที่อาการจะรุนแรง