พยาธิตัวตืดกับการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง แต่มีโอกาสส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง

พยาธิตัวตืดกับการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง แต่มีโอกาสส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง

หลายครั้งที่กินอาหารไม่สุก มักถูกเตือนอยู่เสมอว่า ระวังจะเป็นพยาธิตัวตืด ซึ่งพยาธิตัวตืดเมื่ออาศัยอยู่ในลำไส้ของคน ดูดไขมันก็จะทำให้เกิดอาการป่วยและติดเชื้อได้ และแม้ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงมากมายนัก แต่การแพร่กระจายของตัวอ่อน ย่อมส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ วันนี้จึงชวนให้ทุกคนมาทำความเข้าใจกับพยาธิตัวตืดกันให้มากขึ้น เพื่อที่จะสามารถป้องกันและรักษาได้ทันการณ์นั่นเองค่ะ

พยาธิตัวตืดคืออะไร

พยาธิตัวตืด คือ พยาธิตัวแบน มีสีขาวขุ่น ลำตัวจะมีลักษณะเป็นปล้อง มีขนาดยาวหลายเมตร จะอาศัยอยู่ในลำไส้ของคน และทำให้เกิดการติดเชื้อในที่สุด ซึ่งพยาธิตัวตืดที่พบได้บ่อยมากที่สุดก็คือ พยาธิตัวตืดหมูและพยาธิตัวตืดวัว โดยพยาธิตัวตืดเหล่านี้จะเข้าสู่ร่างกายของคนเราผ่านอาหารหรือเครื่องดื่มที่เจือปนไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิ โดยอาหารประเภทกึ่งสุกกึ่งดิบมักจะพบพยาธิตัวตืดอยู่ในกล้ามเนื้อวัว ควาย และหมู เมื่อเข้าสู่ร่างกายของคนเราแล้ว ตัวอ่อนของพยาธิอาจมีการเคลื่อนออกจากลำไส้ แล้วไปสร้างถุงน้ำหุ้มตัวอ่อนเป็นระยะตัวอ่อนเม็ดสาคูตามอวัยวะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กล้ามเนื้อ หัวใจ สมอง หรือตา และโดยทั่วไปผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดจะมีอาการที่ไม่รุนแรงมากมายนัก แต่ทั้งนี้การแพร่กระจายของตัวอ่อนก็อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ และอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้อีกด้วย หากผู้ป่วยไม่ได้รับการตรวจรักษาได้ทัน

อาการของพยาธิตัวตืด

ในส่วนของอาการที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิตัวตืดนั้น โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดในลำไส้มักจะไม่แสดงอาการของโรค แต่ในบางรายที่พยาธิเคลื่อนไหวอยู่ในลำไส้ ก็อาจมีการแสดงอาการออกมา ทั้งนี้อาการที่แสดงออกมาจะขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิตัวตืดและตำแหน่งที่พยาธิตัวตืดอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน แต่โดยสรุปแล้วผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดในลำไส้มักจะมีอาการดังต่อไปนี้

1.คลื่นไส้

2.ร่างกายอ่อนแอและเหนื่อยล้า

3.เบื่ออาหารและน้ำหนักลด

4.ปวดท้องและมีอาการท้องเสีย

5.ร่างกายเผชิญภาวะขาดสารอาหาร

สาเหตุของพยาธิตัวตืด

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อพยาธิตัวตืด โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการบริโภคไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิในรูปแบบของการดื่มน้ำหรือกินอาหาร และมักจะเป็นชนิดของพยาธิตัวตืดวัวและพยาธิตัวตืดหมู โดยที่ตัวอ่อนของพยาธิจะพัฒนาเป็นพยาธิตัวเต็มวัย และจะอาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ได้นานถึง 30 ปี ในส่วนของความยาวของพยาธิตัวตืดจะยาวกว่า 15.2 เมตรเลยทีเดียว และไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดจะมีโอกาสเข้าสู่ร่างกายของคนเราได้หลายทาง เช่น

1.การกินเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อควายที่ปรุงไม่สุก

2.การกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนอุจจาระของสัตว์ หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืด

3.มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิตัวตืด ซึ่งไข่ของพยาธิอาจจะหลุดปนมากับอุจจาระและอาจติดตามเสื้อผ้า ผิวหนัง หรืออาหาร

การวินิจฉัยพยาธิตัวตืด

ในการวินิจฉัยพยาธิตัวตืด แพทย์จะตรวจวินิจฉัยผู้ติดเชื้อพยาธิตัวตืดด้วยการตรวจอุจจาระ ซึ่งจะสั่งเก็บตัวอย่างอุจจาระเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาไข่พยาธิด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ และอาจต้องเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งไปตรวจเพิ่มเติมในเวลาที่ต่างกัน นอกจากนี้แพทย์อาจมีการสั่งตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเลือด เพื่อหาสารภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อพยาธิตัวตืดต่อไป

วิธีการรักษาพยาธิตัวตืด

สำหรับการรักษาพยาธิตัวตืด โดยส่วนใหญ่จะรักษาหายด้วยการให้กินยาที่มีฤทธิ์เป็นพิษต่อพยาธิตัวเต็มวัย เช่น ยาพราซิควอนเทล อัลเบนดาโซล และนิโคลซาไมด์ ซึ่งแพทย์จะทำการจ่ายยาตามชนิดของพยาธิและตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่

ภาวะแทรกซ้อนของพยาธิตัวตืด

พยาธิตัวตืดสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้ เมื่อตัวอ่อนของพยาธิแพร่กระจายออกจากลำไส้แล้วไปสร้างถุงเป็นเม็ดสาคูตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ก็จะทำการขัดขวางการทำงานของอวัยวะต่างๆ จนเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ทั้งนี้ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นกับร่างกายของคนเรานั้นจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีถุงน้ำ โดยที่ผู้ป่วยจะมีอาการจากภาวะแทรกซ้อนดังนี้

1.ปวดหัว

2.ไอหรือไอเป็นเลือด

3.หายใจไม่อิ่ม

4.สายตาพร่ามัวหรือตาบอด

5.มีภาวะตาเหลืองและตัวเหลือง

6.ทางเดินอาหารอุดตัน

7.มีอาการของโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง

8.ระบบไหลเวียนเลือดและอวัยวะภายในได้รับความเสียหาย

9.สมองและระบบประสาทส่วนกลางบกพร่อง ซึ่งเรียกว่าภาวะพยาธิขึ้นสมอง

10.เกิดอาการชัก

วิธีการป้องกันพยาธิตัวตืด

วิธีป้องกันหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อพยาธิตัวตืดมีดังนี้

1.ไม่กินเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อควาย หรือเนื้อปลาดิบ รวมทั้งที่ผ่านการปรุงแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ

2.ล้างผักและผลไม้ให้สะอาดก่อนเก็บในตู้เย็นหรือก่อนกินทุกครั้ง

3.ล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับอาหาร

4.ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำหรือหลังสัมผัสกับสัตว์

5.ควรแช่แข็งเนื้อปลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง และเนื้อวัว เนื้อควาย หรือเนื้อหมูอย่างน้อย 12 ชั่วโมง ก่อนนำมาทำอาหาร

6.ใส่ใจสุขอนามัยของตัวเองให้มากๆ โดยเฉพาะเมื่อคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงเป็นประจำ

7.ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดต้องเข้ารับการรักษาให้หายขาด และต้องใส่ใจในการถ่ายอุจจาระให้ถูกสุขลักษณะ ไม่ควรนำอุจจาระไปทำปุ๋ยเด็ดขาด

8.ในกรณีที่ต้องเดินทางไปยังประเทศหรือพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อจากพยาธิตัวตืด ต้องรักษาสุขอนามัยมากเป็นพิเศษ และควรดื่มน้ำสะอาด พร้อมทั้งปรุงอาหารให้สุกก่อนกินเสมอ

จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อพยาธิตัวตืดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมากๆ และแม้ว่าอาการจะไม่รุนแรง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางทำให้เกิดผลเสียหรืออันตรายต่อชีวิตได้เสมอไป และสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้ก็คือ การกินอาหารที่ปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด และรักษาสุขอนามัยของตัวเองอย่างสม่ำเสมอย่อมช่วยได้มากเลยทีเดียว